อารมณ์ เป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการควบคุม โดยเฉพาะในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดความขัดแย้ง หากไม่มีการจัดการก็อาจทำให้สถานการณ์นั้น ๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แล้วใครจะเป็นคนเข้ามาทำหน้าที่ตัวกลางในการลดความขัดแย้ง เหตุทะเลาะวิวาท เหล่านั้น? หากเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นหนึ่งที่ต้องมีการรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะมีหน้าที่ระงับเหตุดังกล่าว แล้วเจ้าหน้าจะมีวิธีการระงับเหตุอย่างไรได้บ้าง?
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะมีวิธีระงับเหตุทะเลาะวิวาทอย่างไร?
การที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาท จะต้องรู้จักวิธีการระงับที่มีประสิทธิภาพและต้องมีทักษะเกี่ยวกับการจัดการอารมณ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งวิธีระงับเหตุ จะมีดังนี้
1. ต้องใจเย็น ควบคุมสงบสติอารมณ์
การเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาท เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องทำอย่างเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดด้วยความใจเย็น อย่าให้เหตุการณ์เข้ามามีผลกับอารมณ์ส่วนตัว อย่าแสดงความโกรธ ความไม่พอใจ หรือความไม่อดทนกับสถานการณ์
2. ควบคุมสถานการณ์
เข้าควบคุมสถานการณ์ด้วยความมั่นใจ รักษาความสงบและแสดงตนด้วยความน่าเชื่อถือ ใช้น้ำเสียงที่ฟังดูไม่ก้าวร้าว ใช้คำพูดที่ดีในการเข้าถึงสถานการณ์ เพื่อให้สามารถเข้าใจสถานการณ์เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี
3. แยกคู่กรณี
สิ่งที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องทำคือการแยกคู่กรณีออกจากกัน เพื่อให้สถานการณ์เย็นลง พยายามใช้คำพูด เลี่ยงการใช้กำลัง หากจำเป็น ให้ใช้กำลังอย่างน้อยที่สุด ความรุนแรงอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงได้
4. ใช้เทคนิคในการลดระดับความรุนแรง ลดเสียง ไม่ขู่
ใช้น้ำเสียงการพูดที่ไม่ก้าวร้าว ไม่ขู่ หากทุกคนใจเย็นลงก็อาจทำให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ ห้ามชี้นิ้วหรือแสดงท่าทางข่มขู่ หรือยืนใกล้กับผู้ทะเลาะวิวาทมากเกินไป
5. ฟังความทั้งสองฝ่าย
หลังจากแยกทั้งสายฝ่ายออกจากกัน ให้ฟังความทั้งสองฝ่ายให้ได้มากที่สุด โดยการฟังก็ต้องมีความเข้าใจในความรู้สึกของทั้งสองฝ่ายด้วย เพื่อให้สถานการณ์เบาบางลง
6. ไกล่เกลี่ย ส่งเสริมการแก้ปัญหา
หลังจากที่อารมณ์เริ่มเย็นลงแล้ว ช่วยส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดจาแก้ปัญหาซึ่งกันและกันหากทำได้ อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยให้เถียงกันไปมา และเจ้าหน้าที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย ณ เวลานั้นได้หากสามารถแก้ปัญหาได้ หากเป็นเรื่องใหญ่หรือมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาทำหน้าที่ต่อ
7. บันทึกเหตุการณ์ไว้เป็นหลักฐาน
ทุกอย่างต้องถูกบันทึก เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องเขียนรายงานเหตุการณ์ประจำวันเอาไว้ว่าเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ใครเป็นคู่กรณี เกิดเวลาไหน ที่ไหน เกิดเหตุได้อย่างไร เพื่อใช้เป็นหลักฐาน และเพื่อป้องกันเหตุที่สามารถเกิดขึ้นในอนาคต
การปฏิบัติตามวิธีการเหล่านี้ จะเป็นวิธีการป้องกันเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทเบื้องต้น หากสถานการณ์ดูท่าไม่ค่อยดี ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที
หากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไม่สามารถระงับเหตุทะเลาะวิวาทได้ ควรทำอย่างไร?
หากไม่สามารถระงับเหตุทะเลาะวิวาทได้ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะต้องตั้งสติและใจเย็นก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อส่งไม้ต่อให้มาทำหน้าที่ระงับเหตุต่อไป จากนั้นให้จดบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้เป็นหลักฐาน เขียนรายงานส่งให้กับเบื้องบนหรือหัวหน้าหน่วยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ทราบ
เหตุทะเลาะวิวาท เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต้องมีเทคนิคการระงับเหตุตามอำนาจที่สามารถทำได้ และต้องมีสภาพจิตใจที่แข็งแรง ไม่เกรงกลัวต่อสถานการณ์ และมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยโดยรวม ความปลอดภัยของคนรอบข้าง และความปลอดภัยของตัวเจ้าหน้าที่เอง
อ่านบทความเพิ่มเติม :
10 มาตรฐานการทำงาน รปภ ที่เจ้าหน้าที่ต้องมีเพื่อความปลอดภัย